knowledge
สร้างจุดแข็งให้ธุรกิจอาหาร เติมความแตกต่างด้วยสารสกัดจากกัญชง
Published date: 3 January 2023 | 04.51 PM

สร้างจุดแข็งให้ธุรกิจอาหาร เติมความแตกต่างด้วยสารสกัดจากกัญชง

ธุรกิจอาหารในปัจจุบันมีการเจริญเติบโตที่ท้าทายและแข่งขันสูงมากในยุคที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและรูปแบบการใช้บริการและความต้องการซื้อที่แตกต่างไม่ว่าจะเป็นการซื้ออาหารแบบเดลิเวอรี่ที่ตอบโจทย์มากกว่า ทำให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ในวงการอาหารเกิดขึ้น ทุกคนมีสิทธิในการเป็นเจ้าของแบรนด์ สามารถผลิตสินค้าเพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้ แข่งกับความคาดหวังของผู้บริโภคทั้งในด้านคุณค่าและคุณภาพของสินค้าและผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการเองก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและการเข้าไปเป็นผู้นำและส่วนแบ่งทางการตลาดให้ได้

การสร้างจุดแข็งในการแข่งขันของธุรกิจอาหาร จำเป็นต้องสร้างคุณค่าให้ความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค ไม่ได้มีแค่ “ราคาที่คุ้มค่ากับคุณภาพและความอร่อย” กับอีกต่อไป และเสียงสะท้อนที่จะทำให้ทุกธุรกิจอาหารยืนหยัดต่อไปได้ส่วนหนึ่งก็คือ การรีวิวสินค้าและการสร้างจุดแข็งและจุดขายที่โดดเด่นของสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่กำลังแข่งขันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารและส่งต่อการสื่อสารกันอย่างรวดเร็วและกว้างขวางในสังคมออนไลน์ที่เป็นดาบสองคมที่ผู้ประกอบการอาหารจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อไป

การสร้างจุดแข็งและจุดเด่นให้ธุรกิจอาหารในโลกปัจจุบัน

การสร้างจุดเด่น จุดขายและจุดแข็งของธุรกิจอาหารในปัจจุบันมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า “คุณภาพและความอร่อยในรสชาติของอาหาร” เพราะอาหารที่ดีที่สุดในโลก คือ อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยให้ชีวิตยืนยาวไม่เจ็บป่วย และการสร้างจุดแข็งและจุดเด่นให้ธุรกิจอาหารในโลกปัจจุบันจะต้องคำนึงถึง “การสร้างความแตกต่างของคุณค่าในการเลือกสินค้าและผลิตภัณฑ์” ดังนั้น เทรนอาหารเพื่อสุขภาพที่มีบทบาทมากที่สุดในตอนนี้ จะต้องเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่สามารถคืนความหนุ่มสาว เสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ป้องกันการเจ็บป่วย ให้ความพึงพอใจและอรรถรสในการบริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

กัญชง (Hemp)  จึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดสำหรับอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ (Health Care ) หรือการดูแลสุขภาพของคนไทย ที่มีหลายบริษัทของอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยนำไปสร้างประโยชน์และธุรกิจใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการสร้างความคุ้มค่าในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ในวงการและอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ถึงแม้ว่าประชาชนบางส่วนจะยังสับสนระหว่าง “กัญชา” และ “กัญชง” แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้ความนิยมในการบริโภคลดน้อยลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนให้ความสนใจและอยากได้ข้อมูลที่มากขึ้น และแน่นอนว่า ความสนใจใคร่รู้คือการสร้างโอกาสในการคิดค้นนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นความท้าทายของผู้ประกอบอาหารเพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคในยุคนี้ที่มีการสื่อสารกันอย่างรวดเร็ว

การนำกัญชง ที่มีสารสกัด Cannabidiol (CBD) ที่เป็นสารไม่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ไม่ทำให้มึนเมา มีฤทธิ์ระงับอาการปวด ลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และลดความกังวล ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมหาศาล และนำคุณสมบัติที่มีมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายในผลิตภัณฑ์ ยา อาหารและเครื่องดื่ม นั้นเป็นความท้าทายและความแตกต่างของการสร้างการแข่งขันในธุรกิจอาหาร และ กัญชง จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทางด้านการดูแลสุขภาพในอนาคต ประชาชนทั่วโลกจะเริ่มรับรู้ข้อมูล และเริ่มเข้าใจเห็นภาพที่ชัดเจนของประโยชน์จากกัญชง และสาร CBD จากนั้นจะเริ่มให้ความสนใจสินค้าและผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชงเพื่อนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวมากยิ่งขึ้น  ก่อให้เกิดการแข่งขันและความท้าทายของธุรกิจอาหารและอาหารเสริมที่เข้มข้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

กัญชงกับการสร้างความแตกต่างทางธุรกิจเพื่อสุขภาพ

การเริ่มต้นคิดค้นนวัตกรรม คือ ปัจจัยแรกของการเป็นผู้นำทางนวัตกรรมและความคิด  ดังนั้น การสร้างความแตกต่างของธุรกิจสุขภาพ จะต้องเป็นการสร้าง “คุณค่าและความพึงพอใจ” ในยุคนี้ โดยเฉพาะในปี 2566 ที่กำลังมาถึง การทำธุรกิจเพื่อสุขภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ ความรับผิดชอบทางสังคมทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ 

การนำสารสกัดจากกัญชง หรือ สาร CBD (Cannabidiol) มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารนั้น ไม่จัดว่าเป็นการใช้สารเสพติด เพราะสาร CBD ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและไม่ทำให้มึนเมาเหมือนสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ในกัญชา และสาร CBD ยังมีประโยชน์ในด้านการออกฤทธิ์เพื่อคลายเครียด ช่วยปกป้องเซลล์ประสาทในร่างกาย ป้องกันอาการชัก แก้ปวด ป้องกันการเกิดเนื้องอก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ไม่ทำให้เกิดการดื้อหรือติดได้เหมือนสารเสพติด การนำกัญชงหรือสารสกัด CBD มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารจึงทำได้หลากหลายผลิตภัณฑ์เช่น

  • การสร้างผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสมุนไพร ยา และอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เพื่อช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพร่างกาย เสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ลดอาการเบื่ออาหารในกลุ่มผู้ป่วยและผู้สูงอายุได้ หรือ ฟื้นฟูสุขภาพหลังการผ่าตัดหรือการเจ็บป่วย เป็นต้น
  • การนำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพื่อผ่อนคลายความเครียด ลดความวิตกกังวล ช่วยให้นอนหลับพักผ่อนได้มีประสิทธิภาพขึ้น เป็นต้น
  • การนำมาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลผิวพรรณ หรือ เครื่องสำอางในด้านความสวย ความงาม เพราะสาร CBD มีคุณสมบัติในการต่อต้านการอักเสบ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยฟื้นฟูและบำรุงผิวพรรณ ปกป้องผิวจากแสงแดดได้ เป็นต้น โดยเครื่องสำอางที่ใช้สาร CBD เป็นส่วนผสม เช่น ครีม โลชั่น สบู่ แชมพู ลิปบาล์ม รวมทั้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น ยาหม่อง เป็นต้น

ด้วยคุณสมบัติและประโยชน์ที่กล่าวมา การนำสารสกัด CBD จากกัญชงมาใช้ในธุรกิจอาหารจะกลายมาเป็นจุดแข็ง และการสร้างความแตกต่างทางการตลาดในอนาคต แข่งกับความท้าทายของเวลาและการเป็นผู้นำในการเริ่มต้นนวัตกรรมการคิดค้นสินค้าและผลิตภัณฑ์ก่อนสู่ตลาดผู้บริโภคต่อไป

อ้างอิง

กระทรวงสาธารณสุข. (2564). กัญชาทางการแพทย์. แหล่งที่มา www.medcannabis.go.th.

ฐนิตา  ทวีธรรมเจริญ .(2553). อาหารเสริม. แหล่งที่มา www.si.mahidol.ac.th. (23 ธันวาคม 2565)

สถาบันพัฒนาและวิจัยพื้นที่สูง (องค์กรมหาชน).(2564).  สารสกัดกัญชง (CBD Hemp oil). แหล่งที่มา 

https://www.hrdi.or.th/Articles/Detail/1478. 23 ธันวาคม 2565)

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ. (ฉบับ 7 มิถุนายน 2565). สรุป 10 เทรนด์ “อาหารและเครื่องดื่ม” มาแรงปี 2022.

แหล่งที่มา https://www.bangkokbiznews.com/business/1007336. (23 ธันวาคม 2565)

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์. ( ฉบับ 17 กันยายน 2565). อนาคตของ “กัญชง” กับธุรกิจเฮลท์แคร์. แหล่งที่มา

https://www.thairath.co.th/business/market/2502137. (23 ธันวาคม 2565)

Latest บทความ