บทความ
เทอร์ปีน (Terpenes) สารประกอบในน้ำมันหอมระเหยกัญชากัญชง ตัวช่วยเพิ่มกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์พร้อมสรรพคุณด้านสุขภาพให้กับผลิตภัณฑ์ของคุณ
Published date: 3 มกราคม 2566 | 01.59 PM

เทอร์ปีน (Terpenes) เป็นกลุ่มสารประกอบที่ให้กลิ่นและรส อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพืชแต่ละชนิด เป็นหนึ่งในวิธีที่พืชใช้ป้องกันตัวจากศัตรูพืชทั้งหลาย มักพบในสารสกัดธรรมชาติและน้ำมันหอมระเหย พบมากในกลุ่มเครื่องเทศและสมุนไพรต่างๆ เช่น ใบไทม์ (Thyme), ใบเสจ (Sage), ผลไม้ตระกูลซิตรัส (Citrus), ตะไคร้, กานพลู, อบเชย รวมไปถึงกัญชากัญชง (Cannabis) ด้วยเช่นกัน 

สำหรับในพืชกัญชากัญชง เทอร์ปีนมีคุณสมบัติช่วยเสริมการทำงานของสารเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (THC), แคนนาบิไดออล (CBD) และแคนนาบินอยด์อื่น ๆ [1] นอกจากนั้น สารเทอร์ปีนยังสามารถใช้เป็นวิธีในการจำแนกสายพันธุ์ของพืชกัญชากัญชงได้อีกด้วย เนื่องจากในกัญชากัญชงแต่ละสายพันธุ์จะมีชนิดและปริมาณของเทอร์ปีนที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละสายพันธุ์มี กลิ่น และคุณสมบัติอื่นๆ ที่แตกต่างกัน สารเทอร์ปีนที่พบได้ในพืชกัญชากัญชง ยกตัวอย่างเช่น

แคริโอฟิลลีน (Caryophyllene)

เบต้า-แคริโอฟิลลีน (β-Caryophyllene) เป็นเทอร์ปีนหลักที่พบในพืชกัญชากัญชง หรือสารสกัดที่ได้จากกัญชากัญชง ให้กลิ่นเครื่องเทศ หอมฉุนแบบพริกไทยดำ พบในพริกไทยดำ, โรสแมรี่, กานพลู, ฮ็อพ มีสรรพคุณลดการอักเสบ (Anti-inflammatory) นอกจากนั้นยังสามารถต้านอาการซึมเศร้า (Antidepressant) และลดอาการเจ็บปวดได้ ในการทดลองกับหนู พบว่า สามารถลดอาการปวดจากการอักเสบและอาการปวดเส้นประสาท ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาอาการปวดเรื้อรังระยะยาวได้ในอนาคต [1]

ไพนีน (Pinene)

ไพนีนเป็นเทอร์ปีนชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ α-pinene และ β-pinene ให้กลิ่นหอมสดชื่น กลิ่นเขียว เช่น กลิ่นของต้นสนเข็ม โรสแมรี่ และโหระพา เป็นต้น ทั้งยังมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase) ในสมอง มีส่วนช่วยลดความผิดปกติในด้านการรับรู้และการจดจำที่เกิดจากผลข้างเคียงของสาร THC [3] กลิ่นหอมไพนีนนี้ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ (antiseptic) และต้านอาการซึมเศร้าได้อีกด้วย [2]

ไมร์ซีน (Myrcene)

ไมร์ซีน เป็นเทอร์ปีนที่สามารถพบได้ใน ฮ็อพ (hop), ตะไคร้, ใบไทม์ รวมทั้งดอกของต้นกัญชากัญชง ไมร์ซีนให้กลิ่นหอมรุนแรงแบบมัสกี้ (Musky) หรือกลิ่นฮ็อพ ตัวสาร β-myrcene เป็นสารประกอบตัวหลักที่ทำให้กัญชากัญชงมีฤทธิ์ระงับปวด โดยอาศัยกลไกการกระตุ้นการปลดปล่อย Endogenous Opioids ภายในร่างกายคล้ายกับมอร์ฟีน (Morphine) [4] แต่หากมีระดับของไมร์ซีนมากกว่า 0.5% อาจส่งผลทำให้เกิดอาการซึมเฉยชา, ไม่อยากทำอะไร มีความรู้สึกอยากจะนอนอย่างเดียว หรือที่เรียกว่า “Couch Lock” นอกจากนั้นไมร์ซีนยังมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ต้านเชื้อรา (Antifungal) และต้านแบคทีเรีย (Antibacterial) อีกด้วย [5]

ฮูมูลีน (Humulene)

ฮูมูลีน เป็นเทอร์ปีนหลักในฮ็อพ (Hop) และพบได้ในกานพลู, ขิง, โสม เป็นต้น ฮูมูลีนโดดเด่นในเรื่องการป้องกันภูมิแพ้ อาการแพ้ต่าง ๆ (Allergic Reaction) และหอบหืด (Asthma) ในการทดลองในสัตว์ ฮูมูลีน มีช่วยในการลดการอักเสบ ลดอาการภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจได้ [6]

ลิโมนีน (Limonene)

ลิโมนีน เทอร์ปีนชนิดนี้มีความสามารถในการช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนิน (Serotonin) และโดปามีน (Dopamine) จึงเป็นตัวกระตุ้นการออกฤทธิ์คลายความวิตกกังวล (Anxiolytic) ลดความเครียด (Anti-stress) และกล่อมประสาท (Sedative Effect) มีกลิ่นคล้ายกับมะนาว พบมากอยู่ในผลไม้ตระกูลซิตรัส (Citrus) ทั้งในน้ำและน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากกลุ่มผลไม้ตระกูลซิตรัส ได้แก่ ส้ม มะนาว เลม่อน ส้มโอ และเกรฟฟรุต (grapefruits) เป็นต้น [4]

ลินาลูล (Linalool)

ลินาลูล เป็นเทอร์ปีนที่พบมากในลาเวนเดอร์ (lavender) ให้กลิ่นหอมดอกไม้ เป็นสารหลักที่ใช้ในการทำอโรมาเธอราปี (Aroma Therapy) มีคุณสมบัติทำให้รู้สึกสงบ, ผ่อนคลาย, ลดอาการวิตกกังวล และต้านอาการซึมเศร้า [7]

นอกจากเทอร์ปีนจะให้กลิ่นที่มีเอกลักษณ์แล้ว ยังเป็นสารที่มีคุณประโยชน์ด้านสุขภาพมากมาย สามารถนำไปเป็นส่วนผสมของน้ำมันนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย หรือพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สครับขัดผิว นอกจากนี้ยังสามารถนำไปทำเป็นน้ำมันหอมระเหยเพื่อทำให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลายได้ สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับตอบโจทย์แต่ละธุรกิจได้ 

โดยสารประกอบอย่างเทอร์ปีนถ้าหากจะนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆต้องผ่านขั้นตอนการสกัดสารจากดอกกัญชงอย่าวมีคุณภาพ ซึ่งที่โรงงานของบริษัท “ซาลัส ไบโอซูติคอล” เป็นโรงงานผลิตสารสกัดจากช่อดอกต้นกัญชงที่มีคุณภาพสูงที่สุด (Premium Grade) ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและดีที่สุดในตลาดกัญชง ประเทศไทย  และปัจจุบันนี้มีเพียง 3 เครื่องในโลกเท่านั้น ซึ่งอยู่ที่บริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) เจ้าเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอกสารอ้างอิง

[1]    Russo E.B. Taming THC: Potential cannabis synergy and phytocannabinoid-terpenoid entourage effects. Br. J. Pharmacol. 2011; 163: 1344–1364. doi: 10.1111/j.1476-5381.2011.01238.x.

[2]    Ferber SG, Namdar D, Hen-Shoval D, et al. The "Entourage Effect": Terpenes Coupled with Cannabinoids for the Treatment of Mood Disorders and Anxiety Disorders. Curr Neuropharmacol. 2020; 18(2): 87-96. doi:10.2174/1570159X17666190903103923

[3]    Miyazawa M., Yamafuji C. Inhibition of acetylcholinesterase activity by bicyclic monoterpenoids. J. Agric. Food Chem. 2005; 53: 1765–1768. doi: 10.1021/jf040019b.

[4]    Maayah Z.H., Takahara S., Ferdaoussi M., Dyck J.R. The molecular mechanisms that underpin the biological benefits of full-spectrum cannabis extract in the treatment of neuropathic pain and inflammation. Biochim. Biophys. Acta (BBA) Mol. Basis Dis. 2020;1866:165771. doi: 10.1016/j.bbadis.2020.165771.

[5]    Cox-Georgian D, Ramadoss N, Dona C, Basu C. Therapeutic and Medicinal Uses of Terpenes. Medicinal Plants. 2019: 333–59. doi: 10.1007/978-3-030-31269-5_15.

[6]    Tan JW, Israf DA, Tham CL. Major Bioactive Compounds in Essential Oils Extracted From the Rhizomes of Zingiber zerumbet (L) Smith: A Mini-Review on the Anti-allergic and Immunomodulatory Properties. Front Pharmacol. 2018; 9:652. doi: 10.3389/fphar.2018.00652.

[7]    Guzmán-Gutiérrez SL, Bonilla-Jaime H, Gómez-Cansino R, Reyes-Chilpa R. Linalool and β-pinene exert their antidepressant-like activity through the monoaminergic pathway. Life Sci. 2015; 128: 24-29. doi: 10.1016/j.lfs.2015.02.021.



 

Latest บทความ