บทความ
เลือกใช้น้ำมันสกัดจาก CBD เท่าไหร่? จึงจะเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด
Published date: 6 กันยายน 2565 | 04.09 PM

ณ ปัจจุบันประเทศไทยได้ปลดล็อคเสรีกัญชงและกัญชาเป็นที่เรียบร้อย 
ทำให้หลากหลายธุรกิจหันมาให้ความสนใจกับพืชชนิดนี้มากยิ่งขึ้น 
ซึ่งในต่างประเทศกัญชา กัญชง หรือสารสกัด CBD ที่ได้จากพืชชนิดนี้
ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาเป็นระยะเวลานาน แต่ถึงแม้ว่าสารสกัด CBD 
จะไม่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาทหรือทำให้เสพติดก็ตาม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรใช้สาร CBD ปริมาณเท่าใด ? ต้องคำนวณปริมาณที่ควรได้รับอย่างไร ? 
เพื่อให้เหมาะสมและเพียงพอต่อวัตถุประสงค์ในการใช้งานนั้น ๆ เชื่อว่าหลายคนคงมีข้อสงสัยและเกิดคำถามเหล่านี้ขึ้นอย่างแน่นอน 

ทั้งนี้การเลือกใช้ CBD ในปริมาณเท่าใดนั้น มีหลากหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งน้ำหนักตัว และความไวต่อสาร CBD ของแต่ละบุคคล วัตถุประสงค์ในการใช้งาน ความเข้มข้นและรูปแบบของสาร CBD เช่น น้ำมัน กัมมี่ หรือแคปซูล เป็นต้น 

ปริมาณที่เหมาะสมที่สุด พิจารณาจากอะไร?

ปริมาณการให้ยา (Dose) เบื้องต้น คำนวณปริมาณโดยพิจารณาร่วมกับน้ำหนักของผู้ป่วย หากน้ำหนักตัวมาก ปริมาณยาที่ใช้ก็จะเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักไปด้วย คล้ายกับการให้ยาและอาหารเสริมต่าง ๆ นอกจากนี้ปริมาณที่เหมาะสมสามารถพิจารณาจากระดับความเจ็บปวดหรืออาการที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วย ในกรณีที่มีอาการเจ็บปวดเรื้อรัง หรือวิตกกังวลรุนแรง ผู้ป่วยจะต้องการปริมาณยาที่สูงกว่าผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง 

สำหรับการระบุค่าแน่นอนของปริมาณ CBD ที่ใช้ให้เหมาะกับทุกคนเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะสภาพร่างกายแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ซึ่งวันนี้ทางซาลัสเรามีวิธีการคำนวณเบื้องต้นมาแนะนำ 2 วิธีด้วยกัน คือ 

1. การคำนวณปริมาณ CBD โดยอาศัยน้ำหนักตัวและความรุนแรงของอาการ

2. การคำนวณปริมาณ CBD ที่จะได้รับจากการใช้ผลิตภัณฑ์ CBD ในรูปแบบต่าง ๆ คิดเป็นต่อหน่วยบริโภค (Per serving size)
 

แนะนำปริมาณการใช้ต่อน้ำหนักตัวและความรุนแรงของอาการ

น้ำหนักตัว

ปริมาณสำหรับอาการไม่รุนแรง

ปริมาณสำหรับอาการรุนแรง

0-37 กิโลกรัม

10 มิลลิกรัม

15 มิลลิกรัม

38-45 กิโลกรัม

12 มิลลิกรัม

20 มิลลิกรัม

46-68 กิโลกรัม

15 มิลลิกรัม

25 มิลลิกรัม

69-91 กิโลกรัม

20 มิลลิกรัม

30 มิลลิกรัม

92 กิโลกรัมขึ้นไป

25 มิลลิกรัม

40 มิลลิกรัม


วิธีการคำนวณหาปริมาณ CBD ต่อหน่วยบริโภค (Serving size)

โดยทั่วไป สามารถดูคำแนะนำการบริโภคจากฉลากผลิตภัณฑ์ที่ระบุปริมาณ CBD ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคได้ โดยปกติจะใช้หน่วยมิลลิลิตร (ml) หรือมิลลิกรัม (mg) กรณีที่ฉลากไม่ระบุ สามารถคำนวณ ได้โดยปริมาณ CBD ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค =  ปริมาณ CBD ทั้งหมดจากฉลากหน่วยบริโภค ยกตัวอย่างเช่น ขวดน้ำมันสกัด CBD มีปริมาณ CBD ทั้งหมดในขวด = 1500 mg  โดย 1 ขวดมีปริมาณ 30 ml ใช้ทีละ 1 หยด หยดละ 1 ml (หน่วยบริโภค) จะคำนวณปริมาณ CBD ต่อการใช้ 1 หยด ได้จากน้ำมันสกัด CBD (1500 mg) ปริมาณ 30 ml สามารถแบ่งใช้ได้ทั้งหมด 30 หน่วยปริโภค (1 หน่วยปริโภค = 1 หยด = 1 ml) ปริมาณ CBD ต่อหนึ่งหยด (หนึ่งหน่วยปริโภค) =  1500 mg30 หน่วยบริโภค = 50 mg ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ดังนั้น หากรับประทานน้ำมันสกัด CBD หนึ่งหน่วยบริโภค จะได้รับ CBD ทั้งหมด 50 mg เป็นต้น

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการปรับปริมาณยา

เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ประกอบกับทั้งโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยา อาการป่วย หรือภาวะทางกายต่าง ๆ ที่อาจจะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ดังนั้น การปรับปริมาณยาจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลและการให้คำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความเหมาะสมและความปลอดภัยของผู้บริโภค .

ประเด็นทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับคำแนะนำในการใช้ CBD

ประเด็นเรื่อง การใช้กัญชงทางการแพทย์ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาช้านาน ทั้งในประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลก ถึงแม้จะมีการผลักดันการใช้กัญชากัญชงทางการแพทย์ให้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่ก็ยังต้องมีการกำหนดมาตรฐานการใช้ การประเมินคุณภาพ รวมไปถึงคำแนะนำในการใช้ และข้อจำกัดต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้เวลาดำเนินการเป็นเวลานานเนื่องจากมีประเด็นด้านข้อกฎหมายมาเกี่ยวข้อง 

โดยในปี 2018 ที่ผ่านมาทางสหรัฐอเมริกาได้ออกพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการลงนามในกฎหมาย Agriculture improvement  act of 2018 หรือ the 2018 farm bill ทำให้การเพาะปลูก การค้าขายกัญชากัญชง เป็นเรื่องถูกกฎหมาย รวมไปถึงให้ผู้ปลูกพื้ชกัญชากัญชงมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์จากโครงการประกันราคาพืชผลจากรัฐบาลกลาง (Federal crop insurance) แม้ว่านี่จะเป็นข่าวดี แต่ก็พบว่ามีข้อเสียเปรียบกับทางผู้ประกอบการ เนื่องจากความไม่ชัดเจนในมาตรฐานและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่อาจจะอยู่ระหว่างการดำเนินการ ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องทางด้านกฏหมาย ผู้ประกอบการผลิตสารสกัด CBD ไม่สามารถกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claim) บนฉลากผลิตภัณฑ์สารสกัด CBD ได้อย่างถูกต้อง จนได้มีการออกมาเรียกร้อง มากยิ่งไปกว่านั้น United States Food and Drug Administration (USFDA) ที่ได้ประกาศถอดผลิตภัณฑ์ CBD ออกจากชั้นวางสินค้าทุกแห่ง และส่งจดหมายเตือนไปยังบริษัทต่าง ๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรอให้มีความชัดเจนทางด้านข้อกำหนดต่างๆ และมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

ในปัจจุบันประเทศไทยได้ปลดล็อคเสรีกัญชงและกัญชาให้สามารถผลิต นำเข้า ส่งออก มีไว้ในครอบครอง จำหน่าย มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ หรือเสพ โดยไม่ถือเป็นสารเสพติดและถูกต้องตามกฏหมาย ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ มีการกำหนดไว้ ว่า สารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) ที่มี THC ไม่เกิน 0.2 % และสารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญชาหรือกัญชงที่ได้จากการปลูกภายในประเทศไทยเท่านั้น จึงจะได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ทั้งนี้ควรติดตามประกาศจากทางกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเพิ่งได้ประกาศใช้ได้เพียงไม่นาน อาจจะมีการปรับเปลี่ยน แก้ไข และเพิ่มเติมเนื้อหาในรายละเอียดอยู่เรื่อย ๆ 

ข้อสรุป

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการกำหนดปริมาณของ CBD ที่เหมาะสมของแต่ละวัตถุประสงค์การใช้งานอย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีวิธีการคำนวนเบื้องต้นจากที่กล่าวข้างต้นแล้วก็ตาม อาจจะต้องอาศัยระยะเวลาในการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค และการใช้ประโยชน์จากสารสกัด CBD ได้อย่างสัมฤทธิ์ผลมากที่สุดควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ร่วมกับการใช้สารสกัดที่มีมาตรฐานรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อร่างกายของผู้บริโภคได้อย่างดีที่สุด

เอกสารอ้างอิง

[1] DOES, H., How Much CBD Oil Should I Take? NEW SLEEP AID, SLEEP, BEGINS  TRIAL RESEARCH. Alternative Medicine; Mendota Heights.

[2] สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. (2562) เรื่อง การ บังคับใช้กฎหมาย Farm Bill 2018 สืบค้นจาก 

  https://www.doa.go.th/th/wp-content/uploads/2019/03/Farm-Bill-2018-1.pdf   [วันที่อ้างอิง 11 ก.ค 2565]

[3]  ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 สืบค้นจาก  https://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/2022/02/

law_NYS5_080265.pdf [วันที่ใช้อ้างอิง 24 ส.ค 2565]

Latest บทความ