ข่าวสาร
ซาลัส” ทุ่ม 600 ล้านปักหมุดไทย ผุดฐานผลิต-สกัด “กัญชา-กัญชง
Published date: 23 สิงหาคม 2565 | 02.53 PM

 

ผู้จัดการรายวัน 360 - ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) เปิดตัวห้องปฏิบัติการสำหรับการผลิตและสกัดกัญชาและกัญชง มูลค่า 600 ล้านบาท ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกำลังการผลิตสูงแห่งแรกในเอเชีย มุ่งตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD และผลิตภัณฑ์ THC



บริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด (SBT) เปิดโรงงานผลิตและสกัดกัญชาและกัญชงมูลค่า 600 ล้านบาท ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย โดยในขั้นต้นโรงงานจะเริ่มผลิตผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำไปพัฒนาสำหรับผลิตภัณฑ์จากสารสกัด THC และผลิตภัณฑ์ยา ภายใต้การอนุมัติจากรัฐบาลและกฎหมายที่บังคับใช้



โรงงานแห่งนี้จะมีกำลังการสกัดชีวมวลมากกว่า 200,000 กิโลกรัมต่อปี ผลิตน้ำมัน CBD ได้มากกว่า 50,000 ลิตร และผลิต Isolate powder และ CBD Isolate Water Soluble ได้​ 90,000 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งทำให้ SBT เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและสกัดกัญชาและกัญชงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งนอกทวีปอเมริกาเหนือ โดยบริษัทมีพื้นที่การเพาะปลูกในระบบปิดขนาด 800 ตร.ม. และอาคารอื่นๆ มีกำลังการผลิตสูงในการสกัดและการกลั่นโดยใช้อุปกรณ์​ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมกัญชา และมีห้องปฏิบัติการระดับการแพทย์เพื่อวิเคราะห์กัญชงและกัญชา ทำให้มีกระบวนการการกลั่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถผลิตผลิตภัณฑ์สารสกัด CBD ในระดับสูงและมีคุณภาพที่โดดเด่นเหนือคู่แข่ง  SBT ได้นำการผลิตที่ดีที่สุดมาใช้ในโรงงานผลิตระดับการแพทย์ตามมาตรฐาน GMP ของไทย และยุโรป



ทั้งนี้ SBT เพิ่งได้รับใบอนุญาตสกัดกัญชง ซึ่งทำให้ SBT สามารถเริ่มดำเนินการและสกัดดอกกัญชงอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทย SBT จึงเป็นหนึ่งในบริษัทรายแรกๆ ของประเทศไทยที่มีใบอนุญาตในการผลิตผลิตภัณฑ์สารสกัด CBD อย่างครบถ้วน

 


ท่ามกลางกระแสการใช้กัญชาทั่วโลก ประเทศไทยซึ่งมีจำนวนประชากรกว่า 70 ล้านคนเป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมนี้ ภายหลังจากที่กฎหมายรับรองการใช้กัญชาทางการแพทย์ในปี พ.ศ. 2562 มีผู้ป่วยชาวไทยประมาณ 600,000 คนที่สามารถเข้ารับการรักษาโดยการใช้กัญชา รวมถึงในปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพื่อจุดประสงค์ด้านการแพทย์มากเป็นอันดับสามของโลก คาดว่ารายได้จากการรวมอุตสาหกรรมกัญชาเข้ากับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพียงอย่างเดียวน่าจะสร้างรายได้ถึง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2567 ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ยังสนับสนุนให้กัญชาทางการแพทย์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยอีกด้วย



ธนดี พันธุมโกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ SBT กล่าวว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งกับก้าวแรกที่สำคัญของเราในประเทศไทย การเปิดโรงงานผลิต CBD ในประเทศจะช่วยให้เราตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์สารสกัด CBD ที่หลากหลายทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โรงงานแห่งนี้จะสร้างห่วงโซ่ที่มีมูลค่าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้ประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีโอกาสในการทำงานและรายได้เพิ่มขึ้น”

 

 

SBT จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันวิจัยและพัฒนากัญชงกัญชาและสมุนไพร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยจะทำการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจด้านการเกษตรและเศรษฐกิจการเกษตรของกัญชาและกัญชงในเขตร้อน รวมถึงการสกัดเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์เพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ SBT ยังมีเป้าหมายที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และกลุ่มเกษตรกรในท้องถิ่นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินการเพาะปลูกพืชกัญชงที่มีสาร CBD สูง และ THC ต่ำ โดย SBT ได้สร้างแปลงสาธิตสำหรับเพาะปลูกกัญชงกลางแจ้งที่วิทยาเขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานถึง 5 วิทยาเขต เพื่อพัฒนาเทคนิคการเพาะปลูกและถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในท้องถิ่น



เนื่องจากประเทศไทยได้มีการลงทุนในตลาดกัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โอกาสต่างๆ สำหรับธุรกิจในอนาคตจะเพิ่มขึ้น ในฐานะที่เราเป็นบริษัทกัญชาทางการแพทย์แห่งแรกในอเมริกาเหนือที่ก้าวเข้าสู่ตลาดของประเทศไทย ในขั้นแรก SBT จะเริ่มผลิตผลิตภัณฑ์กัญชามาตรฐานการแพทย์ที่เป็นไปตามมาตรฐาน EU-GMP เช่น CBD distillate Isolate Powder และ CBD Isolate Water Soluble เพื่อจำหน่ายในประเทศ บริษัทมุ่งเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงสำหรับตลาดในประเทศ และตั้งเป้าที่จะครองตลาดในอาเซียนด้วยการขยายตลาดทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อประเทศไทยประกาศตัวเองเป็นประเทศส่งออกซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าการส่งออกที่ 618 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2567



SBT พร้อมก้าวไปข้างหน้าด้วยฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งและการสนับสนุนจากลูกค้า SBT จะเข้าสู่หลากหลายภาคอุตสหากรรมในตลาด การได้รับความสนใจจากผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ อาหารเสริม ธุรกิจสปา และอาหารสัตว์หลายแห่งในประเทศไทย SBT จะผลิตสาร CBD Distillate และ Isolate เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของ พ.ศ. 2564 ในระยะของการผลิตยากัญชาและกัญชง SBT อยู่ระหว่างการดำเนินการให้โรงงานได้รับมาตรฐาน GMP เพื่อดำเนินการผลิตยาเม็ด แคปซูล ยาเหน็บ แผ่นยาชนิดติดผิวหนัง และยาชนิดรับประทานที่มีคุณภาพทางการแพทย์ซึ่งมีส่วนประกอบของสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์อื่นๆ ภายใต้การอนุมัติของรัฐบาล

 

https://mgronline.com/business/detail/9640000124642

Latest ข่าวสาร